งานบุญสารทเดือนสิบเมืองคอน

งานบุญสารทเดือนสิบเมืองคอน

ประวัติความเป็นมา

งานเทศกาลสารทเดือนสิบ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประเพณีจัดสืบเนื่องกันมาแต่โบราณถือเป็นประเพณีทำบุญเกี่ยวเนื่อง กับความเชื่อในศาสนาพุทธ และเป็นงานเทศกาลประจำปีที่สำคัญ ยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช เริ่มจัดงานครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2466 ที่วัดพระมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายหลังจึงถือปฏิบัติสืบเนื่องมาเป็นประจำทุกปี จนปัจจุบัน กล่าวได้ว่า กลายเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่ง ทั้งความสำคัญและความยิ่งใหญ่ ของการจัดงานทำให้งานนี้เป็นที่รู้จักกันดีทั่วไป ในภาคใต้ รวมทั้งภาคอื่นๆ ของประเทศด้วย

วิวัฒนาการงานประเพณีสารทเดือนสิบ

วิวัฒนาการงานประเพณีสารทเดือนสิบ จังหวัดนครศรีธรรมราช แบ่งได้เป็น 2 ช่วง คือ

1. ประเพณีงานเทศกาลเดือนสิบ ก่อนการจัดงานอย่างเป็นทางการ (ก่อน พ.ศ. 2466)

งานบุญสารทเดือนสิบ เป็นงานบุญประเพณีของชาวนครศรีธรรมราชแต่ครั้งโบราณ เช่นเดียวกับที่พบตามภาคต่างๆ ของประเทศ งานบุญสารทเดือนสิบ เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลัทธิพราหมณ์ แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มเมื่อใด

คำว่า “สารท” เป็นภาษาบาลีแปลว่า ฤดูอับลม หรือฤดูใบไม้ร่วง ตรงกับภาษาสันสกฤตว่า “ศารท” ฤดูสารท หรือฤดูศารท ตรงกับเดือน 11 และเดือน 12 แต่การทำบุญวันสารทของไทยอยู่ในราวปลายเดือน 1 อาจเป็นเพราะการนับเดือนสมัยโบราณ เริ่มนับจากข้างแรม ถ้านับเริ่มจากเดือน 5 ปลายเดือน 10 จะเป็นวันครอบครึ่งปี ดังนั้น คำว่า “สารท” ตามคติไทยอาจถือเป็นวันทำบุญครบครึ่งปีก็ได้

ในระยะเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่พืชพันธุ์ธัญญาหารในท้องถิ่นออกผล คนสมัยโบราณจะมีพิธีกรรมเซ่นสังเวยผลแรก ได้แก่ ผีสาง เทวดาเพื่อเป็นสิริมงคล เมื่อได้รับศาสนาพราหมณ์และพุทธพิธีกรรมดังกล่าว จึงเปลี่ยนมาเป็นการทำบุญตามความเชื่อทางศาสนา

ประเพณีดังกล่าว จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความยินดี ที่ได้รับผลผลิตจากการเพาะปลูกในรอบปี เป็นการบำรุง พระพุทธศาสนาด้วยการอุทิศถวายอาหาร พืชผลแรกได้ตามฤดูกาล แด่พระสงฆ์และอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติมิตรผู้ล่วงลับ ทั้งยังเป็นการทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่เรือกสวนไร่นา แก่ตนเอง และครอบครัวเชื่อกันว่า ในวันแรม 1 เดือนสิบ พญายมจะปล่อยวิญญาณญาติๆ มาพบลูกหลานและต้องกลับไปเมืองนรกในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ชาวไทยสมัยก่อน รวมทั้งชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชจึงได้ทำบุญในเดือนสิบนี้เป็นประจำทุกปี

2. ประเพณีงานเทศกาลเดือนสิบ ตั้งแต่เริ่มจัดงานเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2466

พ.ศ. 2466 ทางราชการประสงค์จะสร้างอาคารหลังใหม่แทนอาคารศรีธรรมราชสโมสรซึ่งชำรุดทรุดโทรม จึงจัดงานเทศกาลเดือนสิบเพื่อหารายได้ เนื่องจากได้ความคิดจากการจัดงานวันวิสาขบูชา เพื่อหารายได้ซ่อมแซมพระวิหารในวัดมหาธาตุ ใน พ.ศ. 2465) จึงได้เริ่มจัดงานเดือนสิบเป็นครั้งแรก ที่สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช ใน พ.ศ. 2466 นี้ และนับแต่นั้นก็ได้มีการจัดต่อเนื่องกันมาโดยตลอด เพื่อหารายได้จากการจัดงาน ไปใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์ต่างๆ  พ.ศ. 2533 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมสนับสนุนการจัดงานนี้ โดยการจัดงานเน้น ถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นมากขึ้น

กิจกรรม / พิธี

วันแรม 13 ค่ำ เดือน 10 ชาวเมืองนครศรีธรรมราช จะเตรียมซื้อข้าวของ ทั้งอาหาร ผลไม้ ขนม เพื่อเตรียมสำรับ (ชาวเมืองนครฯ เรียก “หมรับ”) ประเคนถวายแด่พระภิกษุ นอกจากนี้จะซื้อของเล่นต่างๆ อาทิ ตุ๊กตา เตรียมแจกแก่เด็กเล็ก ลูกหลาน

วันแรก 14 ค่ำ เรียกวันยก หมรับ ผู้คนจะนำหมรับ และอาหาร ไปวัดถวายพระสงฆ์มีการจัดขบวนแห่ มีดนตรีนำหน้าขบวน นอกจากนี้มีการนำอาหารและขนมเดือนสิบ ตามประเพณีโบราณ รวมทั้งเงินหรือเหรียญสตางค์ไปวางตามที่ต่างๆ เช่น ริมกำแพงวัด. โคนต้นไม้ เพื่อแผ่ส่วนกุศล อุทิศแก่ผู้ล่วงลับที่ปราศจากญาติ หรือญาติที่ไม่ได้มาร่วมทำบุญในวันนี้ เรียกว่า “ตั้งเปรต” หรือ “หลาเปร” (ศาลาเปรต)

หลังจากตั้งเปรตแล้ว เริ่มพิธีกรรมสงฆ์ พระสงฆ์จะสวดบังสุกุลเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ที่ล่วงลับ จากนั้นชาวบ้านที่ยากจนหรือเด็กๆ จะวิ่งเข้าไปแย่งขนม อาหาร ที่ตั้งเปรต บ้างก็ถือว่าได้บุญบ้างถือเป็นเรื่องสนุก เรียกว่า “การชิงเปรต”   วันแรม 15 ค่ำ เป็นวันสารท ประชาชนจะนำอาหารไปถวายพระสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำบุญฉลอง ห.ม.รับ ที่จัดไป วันนี้เรียกว่า “วันหลองห.ม.รับ” (วันฉลองห.ม.รับ) ถือว่าเป็นวันหมรับ ใหญ่

กิจกรรมที่กระทำในวันนี้ มีการทำบุญเลี้ยงพระและบังสุกุล เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ญาติพี่น้องและผู้อื่นที่ล่วงลับแล้ว การทำบุญวันนี้ ถือเป็นการทำบุญสำคัญ เพราะถือว่าเป็นวันส่งญาติพี่น้องและผู้ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญวันนี้ ถือเป็นการทำบุญสำคัญ เพราะถือว่าเป็นวันส่งญาติพี่น้องและผู้ล่วงลับไปแล้วกลับสู่เมืองนรก ชาวบ้านเรียกวันนี้ว่า “วันส่งตายาย” การทำบุญวันนี้เพ่อบรรพบุรุษ จะไม่อดอยากหิวโหยเมื่อกลับสู่นรก ถ้าลูกหลานไม่ทำบุญในวันส่งตายายนี้จะถูกถือว่าเป็นคนอกตัญญู

สำหรับหมรับ ที่ชาวบ้านทั่วไปจัดไปถวายพระ ตามประเพณีดั้งเดิมสมัยก่อนการจัดหมรับ นิยมใช้กระบุงทรงเตี้ย สานด้วยตอกไม้ไผ่ ขนาดเล็กหรือใหญ่ตามความต้องการของผู้จัด แต่ปัจจุบันใช้ภาชนะจัดตามความสะดวก เช่น ถาด กระจาด กะละมัง ถัง ในหมรับ จะจัดเรียงอาหารคาวหวาน ผัก ผลไม้ ต่างๆ โดยใส่ข้าวสารรองกระบุง จากนั้นใส่หอม กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล บรรดาเครื่องปรุงรสที่จำเป็นจนครบ ต่อไปใส่พวกอาหารแห้ง เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ผักผลไม้ สำหรับประกอบอาหารคาวหวานที่เก็บไว้ได้นาน เช่น มะพร้าว ฟัก มัน กล้วยดิบ อ้อย ข่า ตะไคร้ ขมิ้น และพืชผลตามฤดูกาลขณะนั้นนอกจากนี้ใส่ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันก๊าด ไต้ ไม้ขีด หม้อ กระทะ ด้าย เข็ม ถ้วยชาม ฯลฯ

ขนมหวาน 5 ชนิด ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของงานบุญเดือนสิบ คือ

1. ขนมพอง

เป็นสัญลักษณ์แทนแพสำหรับญาติผู้ล่วงลับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ

ตามคติทางพุทธศาสนา

2. ขนมลา

เป็นสัญลักษณ์แทนแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม

3. ขนมกง (ขนมไข่ปลา)

เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ

4. ขนมดีซำ

เป็นสัญลักษณ์แทนเงินเบี้ย สำหรับใช้สอย

5. ขนมบ้า

เป็นสัญลักษณ์แทนสะบ้า สำหรับญาติผู้ตายใช้เล่นสะบ้าในวันสงกรานต์

การจัดหมรับ

การจัดหมรับมักจัดเฉพาะครอบครัวหรือจัดรวมกันในหมู่ญาติ และจัดเป็นกลุ่ม ภาชนะที่ใช้จัดหมรับนิยมใช้กระบุงหรือเข่งสานด้วยตอกไม้ไผ่ ขนาดเล็กหรือใหญ่ ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของเจ้าของหมรับ ปัจจุบันใช้ภาชนะหลายชนิด เช่น ถาด กระเชอ กะละมัง ถัง หรือภาชนะที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษ การจัดหมรับเป็นการบรรจุ ประดับด้วยสิ่งของอาหารขนมเดือนสิบ ฯลฯ โดยจัดเป็นชั้น ๆ ดังนี้

          ชั้นล่างสุด จัดบรรจุสิ่งของประเภทอาหารแห้ง ลงไว้ที่ก้นภาชนะ ได้แก่ ข้าวสาร แล้วใส่พริก เกลือ หอม กระเทียม กะปิ น้ำเปล่า น้ำตาล มะขามเปียก รวมทั้งบรรดาปลาเค็ม เนื้อเค็ม หมูเค็ม กุ้งแกง เครื่องปรุงอาหารที่จำเป็น

          ชั้นที่สอง จัดบรรจุอาหารประเภทพืชผักที่เก็บไว้ได้นานใส่ขึ้นมาจากชั้นแรก ได้แก่ มะพร้าว ขี้พร้า หัวมันทุกชนิด กล้วยแก่ ข้าวโพด อ้อย ตะไคร้ ลูกเนียง สะตอ รวมทั้งพืชผักอื่นที่มีในเวลานั้น

          ชั้นที่สาม จัดบรรจุสิ่งของประเภทของใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ น้ำมันพืช น้ำมันมะพร้าว น้ำมันก๊าด ไต้ ไม้ขีดไฟ หม้อ กระทะ ถ้วยชาม เข็ม ด้าย หมาก พลู กานพลู การบูร พิมเสน สีเสียด ปูน ยาเส้น บุหรี่ ยาสามัญประจำบ้าน ธูป เทียน

         ชั้นบนสุด ใช้บรรจุขนมสัญลักษณ์ของสารทเดือนสิบเป็นสิ่งสำคัญของหมรับ ได้แก่ ขนมพอง ขนมลา ขนมกง (ขนมไข่ปลา) ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมเหล่านี้มีความหมายในการทำบุญเดือนสิบ ซึ่งจะขาดเสียมิได้ เพื่อให้บรรพบุรุษและญาติที่ล่วงลับได้นำไปใช้ประโยชน์

การจัดหมรับและยกหมรับ การเตรียมสิ่งของที่ใช้จัดหมรับ เริ่มขึ้นในวันแรม 13 ค่ำ วันนี้เรียกกันว่า “วันจ่าย” ตลาดต่างๆ จึงคึกคักไปด้วยฝูงชนชาวบ้านจะซื้ออาหารแห้ง เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และขนมที่เป็นสัญลักษณ์ของสารทเดือนสิบ จัดเตรียมไว้สำหรับใส่หมรับ และสำหรับนำไปมอบให้ผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ

ชิงเปรต

         ชิงเปรตเสร็จจากการฉลองหมรับและถวายภัตตาหารแล้วก็นิยมนำขนมอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ตามบริเวณลานวัด โคนไม้ใหญ่ หรือ กำแพงวัด เรียกว่า ตั้งเปรตเป็นการแผ่ส่วนกุศลให้เป็นสาธารณะทานแก่ผู้ล่วงลับที่ไม่มีญาติหรือญาติไม่ได้มาร่วมทำบุญให้ บางวัดนิยมสร้างร้านขึ้นเพื่อสะดวกแก่ตั้งเปรตเสร็จแล้ว ช่วงนี้เป็นช่วงที่เรียกว่า “ชิงเปรต” ทั้งผู้ใหญ่และเด็กจะวิ่งกันเข้าไปแย่งขนมกันอย่างคึกคัก เพราะความเชื่อว่าของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ถ้าใครได้ไปกินก็จะได้กุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

มีการตอบกลับหนึ่งครั้ง

  1. -ขอบคุณค่ะ

ใส่ความเห็น